Sleep apnea อันตราย รู้ตัวต้องเข้ารักษาด่วน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นภาวะอันตรายที่กระทบต่อการนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจขณะที่นอนหลับอยู่ ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ในตอนกลางคืน และกลางวันก็จะรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา
ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดจากการปิดกั้นของทางเดินหายใจขณะนอนหลับอยู่ ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านหรือผ่านได้น้อย นั่นเลยทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดลดลง มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะเกิดขึ้นมาจากการที่ระบบหายใจทำงานผิดปกติ จะมีผลต่อจมูก ช่องคอ ผนังคอหอย ฯลฯ ทำให้บริเวณดังกล่าวแคบลง เมื่อหายใจก็จะทำให้สั่นสะเทือนกลายเป็นเสียงกรนตอนนอนหลับ ซึ่งเป็นสัญญาณหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากระบบหายใจที่แคบทำให้ร่างกายพยายามหายใจแรงขึ้น และการกระทำดังกล่าวจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ไม่สามารถหายใจได้ชั่วขณะ นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังพบอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น สมรรถภาพทางเพศลดลง หรือเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ

ประเภทของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ประเภทการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea) : เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด จากระบบหายใจที่แคบลง
- ประเภทความผิดปกติจากสมองส่วนกลาง (Central sleep apnea) : เกิดมาจากสมองส่วนกลางที่ไม่สามารถสั่งการกล้ามเนื้อขณะนอนหลับได้ เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือรับยาที่มีผลต่อระบบสมองส่วนกลาง
- ประเภทแบบผสม (Mixed Sleep Apnea) : การหยุดหายใจที่เกิดขึ้นจากสาเหตุของสมองส่วนกลาง และการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจร่วมกัน
ในส่วนของระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะอ่านตามค่าดัชนี Apnea Hypopnea Index หรือ AHI ผ่านการคำนวณค่าความถี่ของการหยุดหายใจขณะหลับ และการหายใจแผ่ว เพื่อบ่งบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในตอนหลับจริง ดังนี้
- ค่า AHI น้อยกว่า 5 / ชั่วโมง ถือว่าปกติ
- ค่า AHI 5-15 / ชั่วโมง มีความรุนแรงเล็กน้อย
- ค่า AHI 15-30 / ชั่วโมง มีความรุนแรงระดับปานกลาง
- ค่า AHI ตั้งแต่ 30 / ชั่วโมงขึ้นไป ถือว่ามีความรุนแรงมาก

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ความผิดปกติระหว่างการนอน อย่างอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับสามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบกับกลุ่มคนเพศชายที่มีอายุประมาณ 30 ปี และจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ โดยมีความเสี่ยงร่วมกันในทุกเพศทุกวัย ดังนี้
- เกิดจากลักษณะโครงสร้างของใบหน้า : กลุ่มคนที่มีช่องคอช่องจมูกแคบ คางสั้น กะโหลกศีรษะผิดรูป เป็นต้น จะส่งผลให้เกิดอาการนี้ได้
- ผลกระทบจากโรค : โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคภูมิแพ้ และโรคเบาหวาน
- เกิดจากการกินยา : ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในระบบหายใจได้
- พฤติกรรมชีวิตประจำวัน : การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว
- เพศหญิงวัยหมดประจำเดือน
วิธีง่าย ๆ ช่วยป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง
- ดูแลน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเล่นโยคะ เพราะโยคะสามารถช่วยพัฒนาระบบหายใจให้ทำงานดีขึ้นได้
- เปลี่ยนท่านอนให้ถูกต้อง เนื่องจากท่านอนที่ดีจะช่วยเลี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ให้พยายามนอนตะแคงเพราะสามารถช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นกว่าท่านอนอื่น ๆ
- งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดความผิดปกติ หรือบวมขึ้นจนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
ดังนั้น หากใครที่มีปัญหาเรื่องการนอนกรนอยู่ ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ ควรจะเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้เลือกทำประกันสุขภาพเอาไว้เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มความปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น