ทุกคนรู้ดีว่าการนอนหลับเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่ทว่าหลายคนก็ต้องตกอยู่ในอาการนอนไม่หลับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการนอนไม่หลับ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ ซึ่งแม้ว่าหลายคนจะพยายามหาตัวช่วยให้นอนหลับ หากิจกรรมต่าง ๆ ทำก็ไม่ได้เกิดผลดีแบบ 100% นั่นเลยทำให้บางคนเกิดความสงสัย ว่าจริง ๆ แล้วอาการนอนไม่หลับเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคร้ายหรือเปล่า
การนอนหลับผิดปกติ ไม่ได้ส่งผลแค่กับการนอนไม่หลับเท่านั้น
คำถามก็คือก่อนนอนคุณได้ทำพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่ออาการนอนไม่หลับหรือไม่ เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก, กินอาหารที่มีรสจัด (กรดไหลย้อน), นอนดึกติดต่อกันมาหลายคืน ฯลฯ หากคุณไม่ได้ทำพฤติกรรมเหล่านี้ แล้วผลปรากฏว่าคุณนอนไม่หลับด้วยตัวเอง พยายามเท่าไหร่ก็นอนไม่หลับสักที บางครั้งคุณอาจกำลังเจอเข้ากับภาวะการนอนหลับผิดปกติ (Sleep Disorders)
ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่ออาการนอนไม่หลับเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการนอนมากเกินปกติ ภาวะนอนไม่เป็นเวลา พฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ รวมไปถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วย

Sleep Disorders ประกอบไปด้วยอะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง
โรคต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการนอนหลับผิดปกติ (Sleep Disorders) ได้แก่
Insomnia
สำหรับภาวะ Insomnia เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนเกือบทุกวัย มีทั้งอาการในระยะสั้น (acute) และอาการเรื้อรัง (chronic) โดยเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- Pyschophysiologic insomnia : เกิดมาจากอาการคิดมากในช่วงเวลาก่อนนอน เรื่องโควิด-19 ชีวิต และอื่น ๆ จะมีความรู้สึกฝังใจจนทำให้นอนไม่หลับ
- Parodoxical insomnia : สำหรับคนกลุ่มนี้จะมีความเข้าใจหรือคิดไปเองว่านอนไม่หลับ และจะมีความกังวลว่าอาการดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพของตัวเอง บางคนอาจมีการกินยานอนหลับ ในกลุ่ม benzodiazepine เป็นประจำทุกคืนจนทำให้ไม่สามารถหยุดกินได้ และบางครั้งอาจจะต้องเพิ่มปริมาณด้วยซ้ำ
- Insufficient sleep syndrome : สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น ที่มีการเล่นอินเทอร์เน็ตหรือมือถือทำให้เข้านอนดึก แม้ว่าจะไม่ได้มีผลต่อการนอนหลับโดยตรง แต่ก็ทำให้ร่างกายไม่สดชื่นและส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้
- Insomnia secondary to medical problems : อาการนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
- Insomnia secondary to medication : อาการนอนไม่หลับเพราะยาบางชนิด ที่เข้าไปกระตุ้นระบบประสาท

Central origin of hypersomnolence
- สำหรับ Central origin of hypersomnolence เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับมากเกินปกติ โรคนอนเกิน หรือโรคนอนขี้เซา ซึ่งมักจะเกิดมาจากความผิดปกติของระบบประสาท ส่วนใหญ่จะมีการง่วงนอนมากในช่วงเวลากลางวัน บางรายอาจมีอาการคอพับ เข่าทรุด หรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงแบบฉับพลัน ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงไปชั่วขณะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์โดยด่วน และต้องมั่นใจว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอดหลับอดนอนมานานหลายคืน
Circadian rhythm disorder
เป็นภาวะนอนไม่เป็นเวลา สามารถพบได้ในคน 3 กลุ่ม ดังนี้
- Advanced phase sleep disorder : เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุที่จะเข้านอนตั้งแต่ตอนหัววัน และจะตื่นอีกครั้งในช่วงฟ้ายังไม่สาง โดยบางรายอาจมีการสะดุ้งตื่นตอนกลางดึกร่วมด้วย
- Delayed phase sleep disorder : ส่วนใหญ่พบได้ในวันรุ่น ที่จะเป็นกลุ่มนอนดึกและตื่นสาย ซึ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องตื่นตอนเช้า ก็อาจส่งผลทำให้งัวเงีย ไม่สดชื่น และง่วงนอนอย่างมากในตอนกลางวัน
- Non 24 hour sleep-wake disorder (free running) : พบได้ในกลุ่มคนตาบอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ตาบอดสนิท

นอกจากนี้ก็ยังมีภาวะของอาการนอนละเมอ เดินละเมอ ภาวะหยุดหายใจขณะนอน และกัดฟันขณะนอนหลับ ร่วมด้วย ดังนั้นหากใครที่มีอาการดังกล่าวแล้วกลัวจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับผิดปกติ ก็จำเป็นจะต้องเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด ที่สำคัญอย่าลืมวางแผนเรื่องประกันสุขภาพเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วยนะคะ