หลายคนมักมองข้ามปัญหา ‘นอนละเมอ’ ที่ดูเผิน ๆ เหมือนไม่ใช่เรื่องร้ายแรง อาจมองว่านี่เป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำ แต่รู้หรือไม่ว่าหากมีพฤติกรรมเหล่านี้ติดต่อกันหลายสัปดาห์มันอาจกลายเป็นเรื่องอันตรายได้เลยนะ
นอนละเมอบ่อย เสี่ยงต่ออาการลมชักบางประเภท
ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน เรื่องการนอนหลับให้ได้คุณภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากจะช่วยให้ระหว่างวันไม่เกิดความงัวเงีย ช่วยลดความอ้วน หรือช่วยให้สมองปลอดโปร่งแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย แต่ทว่าในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มพบกับปัญหาการนอนหลับผิดปกติ เช่น นอนกรน, นอนกัดฟัน, นอนมากเกินไป, นอนไม่หลับ และแน่นอนด้วยว่า นอนละเมอ ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนพบเจอ
บางคนอาจมองว่าภาวะการนอนละเมอ เป็นเพียงอาการประเดี๋ยวประด๋าวที่สักพักก็คงหายไปตามกาลเวลา แต่ทว่าหากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นแบบซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ซึ่งการนอนละเมอแม้ว่าจะไม่ใช่โรคอันตราย แต่ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คุณนอนหลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวเนื่องกับอาการลมชักบางประเภทได้ด้วย

ทำงานหนักตอนกลางวัน ส่งผลต่อสู่อาการละเมอตอนกลางคืน
บางคนเข้าใจผิดว่าการนอนให้เต็มที่ในตอนกลางคืน จะต้องเป็นผลพวงมาจากที่ในช่วงกลางวันทำงานอย่างหนัก เหนื่อย อ่อนเพลีย และอ่อนล้า แต่จริง ๆ แล้วการทำงานหนักก็ใช่ว่าจะส่งผลดี เพราะนั่นอาจทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยเกินไป นอนไม่หลับ เครียด และนอนละเมอได้นั่นเอง
การนอนละเมอ เป็นพฤติกรรมที่ทำให้คนนอนละเมอไม่สามารถจำได้ว่าทำอะไรลงไปบ้าง ไม่ได้สติ และอาจทำอะไรที่อันตรายลงไปไม่รู้ตัว เช่น เปิดประตู, เดินไปริมระเบียง, กินอาหารไม่รู้ตัว, เดินออกนอกบ้าน ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายก็สามารถเกิดขึ้นได้

ส่วนระดับของการนอนละเมอที่เรียกว่าอันตราย คืออาการนอนละเมอ 2 – 3 ครั้ง ใน 1 สัปดาห์ หรือติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน แบบนี้เรียกว่าเป็นความผิดปกติแล้วค่ะ ในส่วนของสาเหตุนอนละเมอ ยังไม่มีการระบุที่ชัดเจนว่าเพราะอะไร แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการนอนหลับไม่สนิท ถูกรบกวนขณะนอนหลับ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เมาค้าง หรือการใช้ยากล่อมประสาท
นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัวก็อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้กรรมพันธุ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะหากคนในครอบครัวมีอาการนอนละเมอ ก็จะทำให้คุณเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าวถึง 10 เท่า รวมไปถึงสิ่งเร้าใจอื่น ๆ ที่ไปกระตุ้นการนอนละเมอ อาทิ การอ่านหนังสือ การชมภาพยนตร์สยองขวัญ หรือการชมภาพที่น่ากลัวก่อนนอน ก็จะทำให้สมองและจิตใจถูกรบกวน นอนหลับไม่สนิท และเกิดอาการละเมอได้นั่นเอง
คนละเมอมีพฤติกรรมอย่างไร
ผู้ที่มีอาการละเมอจะเป็นหลังจากหลับไปแล้วประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง หรือเกิดอาการละเมอในช่วงหลับลึก ส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการพึมพำขณะหลับ ส่งเสียงร้องขณะที่ตายังหลับอยู่ ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นเหมือนถูกผีอำ แต่บางรายจะน่ากลัวตรงที่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนกำลังใช้ชีวิตตามปกติ ที่ส่งผลต่อความเสี่ยงเอามาก ๆ

ซึ่งคนที่ต้องนอนข้าง ๆ กับคนที่มีอาการละเมอ มักเกิดคำถามว่าแล้วจริง ๆ ควรจะปลุกพวกเขาหรือไม่ คำตอบของข้อนี้คือ ปลุกได้ แต่ก็ไม่ควร เนื่องจากภาวะดังกล่าวอาจทำให้พวกเขาเกิดความมึนงง หากเราไปปลุกก็จะทำให้เขาต้องใช้เวลานานมากกว่าจะหลับอีกครั้ง หรือบางรายอาจจะนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนเลย ทางที่ดีหากคนนอนละเมอไม่ได้ลุกเดินไปไหน หรือไม่ได้มีพฤติกรรรมที่เสี่ยงต่อความอันตราย ก็สามารถปล่อยไปได้ สักประมาณ 2 – 3 นาที เขาก็จะกลับสู่ภาวะปกติได้เอง
แม้ว่าการนอนละเมอจะไม่ใช่โรคร้าย แต่ทางที่ดีหากมีพฤติกรรมดังกล่าวแบบถี่ ๆ ก็ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อร่วมกันหาข้อแก้ไขและสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย แต่ค่าใช้จ่ายในการปรึกษาแพทย์ก็น่าจะค่อนข้างสูง ดังนั้นเลือกทำประกันสุขภาพเพื่อสำรองค่าใช้จ่ายก็เป็นทางเลือกที่ควรทำ